[ข้อแนะนำ] วิธีป้องกันเด็กเล่นเกมในมือถือแล้วกดซื้อของเพลินจนหมดเงินเป็นแสน

ช่วงนี้พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนที่ซื้อมือถือ/แท็บเล็ตให้ลูกเอาไปเล่น อาจจะได้ยินข่าวเด็กเล่นเกม Cookie Run แล้วกดซื้อของในเกมด้วยเงินจริงจนหมดเงินไปเป็นแสน ทางทีมงาน BaaGames ก็เลยทำบทความนี้ขึ้นมาเพื่อให้ทางพ่อแม่ผู้ปกครองได้เข้าใจว่าสาเหตุของปัญหามันเกิดจากอะไร แล้วจะป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ได้ยังไงครับ

In-App Purchase ตัวปัญหา

ก่อนหน้านี้เกมส่วนใหญ่จะเป็นแบบทำมาให้ซื้อราคาเต็มทีเดียว แล้วเล่นได้นานเท่าไหร่ก็ได้ตามใจชอบ ตกราคาก็อยู่ที่ประมาณเกมละ 300 บาทขึ้นไป อย่างเช่นพวกเกม PC หรือเกม Console ที่เราเห็นๆ กัน แต่พอมาเป็นเกมมือถือ ก็จะเปลี่ยนไปอีกแบบเป็นเกมที่มีรูปแบบการเล่นง่ายๆ เน้นเอาไว้เล่นผ่อนคลายในเวลาว่าง โดยอาจจะทำมาขายถูกๆ 30-60 บาท หรือบางทีก็แจกฟรีไปเลย แล้วทำระบบซื้อขายไอเทมในเกมเพื่อเอาไว้เพิ่มความสามารถของตัวละคร เช่น อาวุธใหม่ๆ หรือเพิ่มพลังชีวิตให้เล่นได้นานขึ้น ระบบการซื้อของในเกมด้วยเงินจริงแบบนี้เราเรียกว่า In-App Purchase สังเกตง่ายๆ ตอนที่เราดาวน์โหลดเกมจะมีบอกว่าเกมนี้มี In-App Purchase หรือเปล่า

in-app-purchase-android

ยิ่งบางเกมออกแบบมาให้มีคะแนนสถิติ สามารถเล่นแข่งกับเพื่อนฝูงเพื่อเอาคะแนนมาอวดกันได้ ก็ยิ่งทำให้มีคนสนใจซื้อของในเกมด้วยเงินจริงมากขึ้น เพื่อเอามาเพิ่มความสามารถให้ตัวละครของตัวเอง จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเล่นนานๆ เพื่อให้ตัวละครเก่งเท่าคนอื่น เกม Cookie Run ที่เป็นข่าวอยู่ตอนนี้ก็มีระบบที่ว่านี้ด้วยเหมือนกัน

ซื้อ In-App Purchase ได้ยังไงบ้าง

แน่นอนว่าต้องใช้เงินจริงในการซื้อ หลักๆ เลยก็มีอยู่ 4 วิธี

1. จ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต/เดบิต ก็คือเป็นการสมัครบัตรแล้วเอาหมายเลขบัตรกับรหัสจ่ายเงินไปผูกไว้กับบัญชีของเรา

2. ซื้อบัตรเงินสดมาเติมเข้าบัญชี คล้ายๆ กับการซื้อบัตรเติมเงินมาเติมในเกมออนไลน์ โดยใช้ Google Play Gift Card หรือ iTunes Gift Card (เข้าใจว่าตอนนี้ยังไม่มีในไทย)

Android-and-Apple-gift-card

3. สำหรับบริการของ LINE กสนซื้อสินค้าเช่นสติ๊กเกอร์หรือไอเทมในเกม สามารถใช้บัตรเติมเงินมือถือ เช่น TRUE หรือ AIS มาเติมเงินเข้าใน LINE Account ได้ผ่านทางเว็บไซต์ LINE Store (https://store.line.me/)

line-store

4. ใช้บริการ Carrier Billing จ่ายเงินผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ลักษณะจะคล้ายๆ บัตรเครดิต แต่จ่ายผ่านทางโอเปอเรเตอร์แทน ในไทยเท่าที่เห็นตอนนี้มีให้บริการอยู่ 2 เจ้าคือ AIS ซื้อของจาก Google Play Store ได้ และ Dtac ซื้อของผ่าน Windows Phone Store ได้

ais-google-play

มันจ่ายเงินกันได้ง่ายขนาดนั้นเลยเหรอ?

สำหรับเครื่องที่ใช้ระบบปฎิบัติการ iOS (iPhone, iPad, iPod) ทุกครั้งที่จะดาวน์โหลดแอปใหม่หรือกดซื้ออะไรก็ตามจาก App Store หรือ iTunes จะต้องใส่รหัสผ่านของ Apple ID เพื่อยืนยันทุกครั้ง นอกจากนี้ทาง Apple ได้เพิ่มระบบควบคุมสิทธิ์ให้ผู้ปกครองสามารถกำหนดได้ว่าต้องใส่รหัสผ่านก่อนถึงจะกดซื้อแอปได้ ซึ่งรหัสผ่านที่ว่านั้นสามารถตั้งเป็นคนละรหัสกับ Apple ID ได้ สำหรับวิธีการตั้งค่าสามารถดูได้จากเว็บไซต์ของ Apple

ios-enable-restric

ส่วนใน Android ถ้ามีการผูกบัตรเครดิตหรือ Carrier Billing เข้ากับ Google Account แล้วก็สามารถดาวน์โหลดแอปหรือซื้อสินค้าจาก Google Play Store ได้เลย ไม่มีกระบวนการตรวจสอบยืนยันแบบของ iOS และถึงแม้ว่าผู้ปกครองจะสามารถตั้งค่า Play Store ให้ใส่รหัสผ่านของ Google Account ทุกครั้งก่อนจะกดซื้อ แต่เอาเข้าจริงๆ เด็กก็สามารถที่จะเข้าไป Clear Data ของแอป Play Store แล้วกดซื้อแอปโดยไม่ต้องใส่รหัสผ่านได้อยู่ดี ตรงส่วนนี้ต้องถือว่า Android ยังออกแบบระบบป้องกันมาได้ไม่ดีเท่า iOS

play-store-password-for-purchases

แล้วแบบนี้จะป้องกันยังไงดี?

เนื่องจากเค้าออกแบบระบบมาให้เราสามารถจ่ายเงินได้ง่ายๆ ดังนั้นก็มีโอกาสง่ายมากที่เด็กจะเผลอไปกดซื้อของแพงๆ มาโดยที่อาจจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ดังนั้นหลักการอย่างง่ายที่สุดเลยที่ควรจะทำคือลดความเสี่ยงและจำกัดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

  • อย่างที่เคยบอกไปในบทความก่อนหน้านี้ว่าไม่ควรผูกบัตร Credit เข้ากับบัญชีที่ใช้ซื้อของออนไลน์โดยตรง ควรไปเปิดบัตร Debit แล้วเติมเงินเท่าที่เพียงพอ เอาไว้ใช้สำหรับซื้อของออนไลน์ดูจะเหมาะสมกว่า พร้อมทั้งจำกัดวงเงินสูงสุดที่จะจ่ายได้เอาไว้ด้วย เพราะต่อให้เผลอกดซื้อของอย่างมันส์มือ หรือโดนขโมยรหัสผ่าน E-Banking เงินที่เราจะเสียไปก็จะมากสุดแค่เท่าที่เราเติมเข้าไปในบัญชีนั้น
  • ถ้าจะใช้บริการจ่ายเงินผ่านโอเปอเรเตอร์ ควรเปลี่ยนไปใช้เป็นแบบเติมเงิน ไม่ควรใช้แบบรายเดือน เพราะเหตุผลเดียวกันกับข้างบน คือถ้าเกิดเผลอกดซื้อของไปเยอะๆ พอเงินที่เติมไว้มันหมดก็จะซื้อต่อไม่ได้ ความเสียหายก็จำกัดแค่เงินที่เราเติมไว้
  • การตั้งรหัสผ่านเพื่อป้องกันเด็กกดซื้อแอปก็อาจช่วยป้องกันได้ดีพอสมควร ถึงแม้ว่าการตั้งค่าแบบนี้ใน Android อาจจะยังช่วยอะไรไม่ได้นักเพราะถูกเอาออกได้ง่ายๆ แต่หลายครั้งการมีก็ยังดีกว่าไม่มี
  • ถ้าจะเล่นเฉพาะแอปของ LINE กดซื้อสติ๊กเกอร์หรือซื้อไอเทมในเกมเฉยๆ การไม่ผูกบัตรเครดิตหรือไม่ผูก Carrier Billing เลย แต่ใช้บัตรเติมเงินผ่านเว็บไซต์เอา ก็น่าจะช่วยป้องกันปัญหาได้พอสมควร

ถ้าเกิดเผลอกดซื้อของไปโดยไม่ตั้งใจ จะเอาเงินคืนได้มั้ย

ทั้ง iOS และ Android ถ้าเรากดซื้อแอปหรืออะไรก็ตามไปโดยไม่ตั้งใจ เช่นซื้อผิดหรืออะไรก็แล้วแต่ สามารถขอเงินคืนได้ โดยใน Android ถ้าเกิดซื้อแอปผิด เราสามารถ Uninstall แอปนั้นออกจากเครื่องภายใน 15 นาทีหลังจากที่กดซื้อแอป ก็จะได้เงินคืนเต็มจำนวนเลย (แต่ถ้ากดซื้อใหม่อีกรอบคราวนี้จะเอาเงินคืนไม่ได้แล้วนะ) แต่ถ้าเกิน 15 นาทีไปแล้ว และต้องการที่จะขอเงินคืนจริงๆ สามารถส่งเรื่องไปให้ทาง Google เพื่อติดต่อขอเงินคืนได้ครับ ส่วน iOS และ iTunes Store ก็สามารถส่งเรื่องไปให้ทาง Apple เพื่อขอเงินคืนได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การส่งเรื่องไปขอเงินคืน ทางทีมงานจะพิจารณาตามความเหมาะสม ไม่ใช่ว่าส่งเรื่องไปแล้วจะได้เงินคืนเสมอไป ยังไงป้องกันไว้ก่อนก็ดีกว่ามาตามแก้ปัญหากันทีหลังครับ

Author

Bigta

เล่นเกมมาตั้งแต่อนุบาลหนึ่ง :3