ข่าวและภาพประกอบจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 10 ตุลาคม 2556
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ เปิดเผยว่า งานวิจัยฉบับหนึ่งค้นพบว่าสมองของเด็กจะมีขนาดใหญ่ที่สุดเมื่ออายุ 12-15 ปี จากนั้นเซลล์สมองบางส่วนจะลดลงเนื่องจากถูกกำจัดโดยเส้นประสาทและสมอง หากไม่มีการคิดลุ้นหรือเสี่ยงตัดสินใจตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป เซลล์สมองประเภทใช้เรียน อ่าน จำ คิดวิเคราะห์ ก็จะถูกสลายทิ้งไป แต่หากสมองถูกกระตุ้นด้วยเกมหรือการพนันจะพบว่าสมองส่วนดังกล่าวถูกฝึกฝน ส่งผลให้สมองส่วนดังกล่าวมีความว่องไวในการทำงาน แต่ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สมองสูญเสียความสามารถในการควบคุมตนเองและการตัดสินใจในระยะยาว ส่งผลให้เยาวชนดังกล่าวเติบโตและกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดวุฒิภาวะในอนาคต
เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ภาครัฐยังไม่สามารถกำหนดกติกาเพื่อดูแล สังคมครอบครัวจึงต้องสร้างการป้องกันด้วยตนเอง ซึ่งคำแนะนำทางการแพทย์ที่สามารถทำได้เองนั้น ได้แก่ ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบดูโทรทัศน์ เพราะอาจทำลายเซลล์และเนื้อสมองบางส่วน นอกจากนี้ยังห้ามเล่นเกมเกินวันละ 1 ชั่วโมงในคนทุกช่วงอายุ เพราะอาจทำลายสมองและความสามารถในการยับยั้งชั่งใจ
โอเค หลังจากอ่านข่าวนี้จบ ตอนแรกผมก็รู้สึกตกใจพอสมควร เพราะว่าผมเองก็เป็นคนนึงที่เล่นเกมมาตลอดตั้งแต่เด็ก และก็ยังคงเล่นเกมมาเรื่อยๆ เกือบทุกวันจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากในข่าวนี้ใช้คำว่า “งานวิจัยฉบับหนึ่ง” ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นงานวิจัยของใคร หาอ่านได้ที่ไหน ได้รับการยอมรับในระดับสากลมั้ย ผมก็เลยลองไปค้นหาข้อมูลดู แต่หายังไงก็ยังไม่เจองานวิจัยฉบับนี้หรือไม่มีแม้กระทั่งข่าวที่พูดถึงงานวิจัยเรื่องนี้เลย? ทั้งๆ ที่ผลงานวิจัยนี้มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อวงการเกมทั่วโลก ซึ่งถ้าหากว่าการเล่นเกมเกิน 1 ชั่วโมงมีอันตรายต่อสมองจริงก็น่าจะเป็นข่าวใหญ่ที่ดังมากๆ (ใครหาเจอช่วยบอกด้วยครับ)
ข่าวที่ใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็นข่าวที่บอกว่า การเล่นวิดีโอเกมนานๆ อาจมีผลทำให้สมองในส่วนประสาทรับความรู้สึกไม่ทำงาน ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร PLoS ONE ซึ่งเป็นหนังสือด้านวิทยาศาสตร์ เมื่อปี 2011
แต่อีกด้านหนึ่ง ก็มีผลการวิจัยที่บอกว่าการให้ผู้สูงอายุ (60-85 ปี) เล่นเกมที่ต้องใช้ความคิดหลายอย่างพร้อมๆ กัน ช่วยทำให้สมองของผู้สูงอายุเหล่านั้นยังคงมีความกระฉับกระเฉงเหมือนคนหนุ่มสาวได้ ซึ่งข่าวนี้ทาง BaaGames เองก็เคยได้นำเสนอไปแล้ว
สรุปแล้ว โดยส่วนตัวผม “ยัง” ไม่เชื่อผลการวิจัยในข่าวนี้ จนกว่าจะได้อ่านงานวิจัยฉบับเต็ม ซึ่งในส่วนนี้จะจริงหรือไม่จริงยังไงก็คงต้องติดตามกันต่อไปครับ เพราะมันเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเราจริงๆ
ปล. ข่าวนี้เป็นเพียงการนำเสนอความคิดเห็นส่วนบุคคล ไม่ได้มีเจตนาโจมตีใคร และเป็นเฉพาะความคิดเห็นของผู้เขียนข่าว ไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานคนอื่นๆ แต่อย่างใด